ชื่อวิทยาศาสตร์ :Trichoderma harzianum
ชื่อสามัญ : Trichoderma
วงศ์ (Family) : Moniliaceae
อันดับ (Order) : Hypocreales

  ความสำคัญ
 

เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.) เป็นเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์หรือเป็นศัตรูต่อเชื้อราโรคพืชหลายชนิด มีสีเขียว เจริญเติบโตได้ดีในดิน บนเศษซากพืช ซากสิ่งมีชีวิต และซากอินทรีย์วัตถุตามธรรมชาติ ชอบสภาพดินที่ชื้นแต่ไม่แฉะ สามารถเป็นปรสิต  (Parasite) โดยการพันรัด เส้นใยเชื้อราสาเหตุโรคพืชแล้วสร้างเอนไซม์ เช่น ไคติเนส (chitinase) เบต้า-1,3 กลูคาเนส (β-1,3glucanase) และเซลลูเลส (cellulose) ย่อยสลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืช จากนั้นจึงแทงเส้นใยเข้าไปเจริญอยู่ภายในเส้นใยโรคพืช ทำให้สูญเสียความมีชีวิตลง นอกจากนี้ยังมีความสามารถสูงในการแข่งขัน (Competition) กับเชื้อโรคพืชด้านการใช้อาหาร เจริญเติบโตสร้างเส้นใยและสปอร์ได้อย่างรวดเร็ว บางสายพันธุ์สามารถสร้างปฏิชีวนสาร (antibiotics) เพื่อยับยั้งหรือทำลายเส้นใยของเชื้อโรคจนเกิดการเหี่ยวสลายและตายได้


 

  เชื้อราไตรโคเดอร์มา สามารถใช้ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชหลายชนิด ทั้งพืชไร่ ไม้ผล พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับ ดังนี้
      1. เชื้อราพิเทียม (Pythium spp.) ทำให้เกิดโรคยอดเน่าของต้นกล้า โรครากเน่า โคนเน่า ต้นเน่า โรคเน่าคอดิน
      2. เชื้อราฟิวซาเรียม (Fusarium spp.) ทำให้พืชเกิดโรคกล้าไหม้ รากเน่า โคนลำต้นหรือกอเน่าแห้ง ผลเน่า โรคเหี่ยว
      3. เชื้อราสเคลอโรเทียม (Sclerotium rolfsii )  ทำให้เกิดโรคกล้าไหม้  โรคราเมล็ดผักกาด โรคโคนเน่า
      4. เชื้อราไรช็อกโทเนีย (Rhizoctonia spp.) ทำให้เกิดอาการโรคเมล็ดเน่า เน่าระดับคอดิน กล้าไหม้ รากเน่า หัวเน่า
      5. เชื้อราไฟท็อบธอร่า  (Phytopthora spp.)  ทำให้พืชเกิดอาการโรครากเน่า โคนเน่า เน่าดำ ยอดและรากเน่า
      6. เชื้อราคอลเลคโตตริกรัม (Collectotrichum spp.) ทำให้เกิดโรคแอนแทรกโนสในพืชผักต่าง ๆ

  รูปแบบของเชื้อราไตรโคเดอร์มา
 

เชื้อราไตรโคเดอร์มามีหลายรูปแบบ ในส่วนที่ศูนย์ ฯ ผลิตนั้น เป็นเชื้อสดที่ผลิตจากเมล็ดข้าวฟ่าง และข้าวเจ้า

เชื้อสดผลิตจากข้าวฟ่าง บรรจุ ถุงละ 500 กรัม เชื้อสดผลิตจากข้าวเจ้า บรรจุ ถุงละ 250 กรัม
   
  วิธีการนำไปใช้
  1. ใช้คลุกเมล็ดพันธุ์ ป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ดโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดผงแห้ง  หรือเชื้อสด  (ไม่ผสมส่วนผสมใด ๆ)  10 – 20  กรัม  ต่อเมล็ดพืช  1  กิโลกรัม  อาจเติมน้ำสะอาดหรือสารจับติด  (Sticker)  ลงไปเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ผงเชื้อจับติดเมล็ดได้ดีขึ้น
 

2. ใช้ผสมกับส่วนผสมแล้วนำไปใส่ในแปลงพืช
                เชื้อราไตรโคเดอร์มาที่ผลิตโดยใช้เมล็ดธัญพืช  ในรูปของเชื้อสดก่อนนำไปใส่ในแปลงปลูกพืชต้องมีการคลุกเคล้าส่วนผสม  ซึ่งได้แก่รำข้าวและปุ๋ยหมัก  เพื่อกระตุ้นเชื้อราให้เจริญและเพิ่มปริมาณก่อนนำไปใช้ควบคุมโรค โดยใช้อัตราส่วนผสมดังนี้
                เชื้อราไตรโคเดอร์มาสด  1  กิโลกรัม ผสมรำละเอียด  4  กิโลกรัม  และปุ๋ยอินทรีย์  (ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอกเก่า) 100  กิโลกรัม  ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันโดยให้มีความชื้นเล็กน้อย ใช้กระสอบป่านหรือเศษพืชคลุมบาง ๆ ทิ้งไว้ในร่ม  3  คืน  แล้วนำไปใส่ในแปลงปลูก


              


                  2.1 การใช้ในแปลงเพาะกล้า หว่านส่วนผสมของเชื้อราไตรโคเดอร์มาบนแปลงเพาะกล้าในอัตรา 50 – 100  กรัมต่อตารางเมตร  คลุกเคล้าให้เข้ากับดินลึก 5 – 10 เซนติเมตร ก่อนเพาะกล้าหรือหว่านเมล็ด แล้วใช้เศษซากพืชหรือฟางข้าวคลุมบาง ๆ เพื่อรักษาความชื้นแล้วจึงรดน้ำ
                  2.2 การใช้กับพืชปลูกใหม่หรือใช้รองก้นหลุม ใช้ส่วนผสมของเชื้อไตรโคเดอร์มาอัตรา 50 – 100 กรัมต่อหลุมหรือต่อต้น  กรณีเป็นไม้ผล  ไม้ยืนต้น  ใช้ส่วนผสม 3 – 5 กิโลกรัมต่อหลุม  คลุกเคล้ากับดินก้นหลุม  แล้วจึงนำพืชลงปลูกใช้เศษพืช หรือฟางข้าวคลุมบาง ๆ แล้วรดน้ำ  เพื่อรักษาความชื้น
                 2.3 การใช้กับพืชที่ปลูกแล้ว ในกรณีไม้ผล ไม้ยืนต้น ควรทำความสะอาดบริเวณโคนต้นหรือใต้ทรงพุ่ม  ก่อนหว่านส่วนผสมของเชื้อราไตรโคเดอร์มา ในอัตรา 50 – 100  กรัมต่อตารางเมตร  เพื่อให้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสัมผัสดินทั่วถึง แล้วคลุมด้วยเศษพืชหรือฟางข้าวบาง ๆ จึงรดน้ำให้ชุ่มชื้น  ถ้าเป็นพืชผักและไม้ดอก ไม้ประดับ  หรือพืชผักที่มีลำต้นขนาดเล็ก   ให้หว่านส่วนผสมของเชื้อราไตรโคเดอร์มารอบโคนต้นในอัตรา 10 –15 กรัมต่อต้นหรือหว่านทั่วแปลงอัตรา  50 – 100  กรัมต่อตารางเมตร  แล้วพรวนดินรดน้ำให้ชุ่มชื้น
                2. 4 การใช้ในการเตรียมดินผสมพร้อมปลูก ใช้ส่วนผสมของเชื้อราไตรโคเดอร์มาคลุกเคล้ากับดินผสมพร้อมปลูกในอัตรา  15  กิโลกรัม ต่อดินผสม  1.0 – 1.50  ลูกบาศก์เมตร  คลุกเคล้าให้เข้ากัน  ดินที่ผสมใช้แล้วควรใช้ให้หมดในคราวเดียว

 

 

3. การผสมน้ำฉีดพ่นหรือราดลงดิน  ให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัมผสมน้ำ 200 ลิตร แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ นำไปฉีดพ่นเพื่อป้องกันโรคในส่วนบนของต้นพืช เช่น โรคแอนแทรคโนสหรือโรคกุ้งแห้งในพริก หรือรวมทั้งฉีดพ่นหรือราดลงดิน เหมาะกับแปลงเพาะกล้าที่งอกใหม่

 
  ข้อแนะนำและการปฏิบัติ
 

1. ในพื้นที่ปลูกพืชเป็นประจำหรือพืชยืนต้น ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาปีละ 2 ครั้ง หรือทุก ๆ 6 เดือน เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณเชื้อรา ไตรโคเดอร์มาในดิน ให้มีอยู่ตลอดไป
2. ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดเชื้อราในพื้นที่ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ในกรณีที่มีความจำเป็น ควรเว้นระยะเวลาใช้ให้ห่างกันอย่างน้อย
7 – 10  วัน
3. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาลงในดิน หรือแปลงปลูก ควรใช้ในช่วงเวลาที่มีแดดอ่อนในตอนเย็น
4. ส่วนผสมของเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่ผสมพร้อมให้แล้วควรใช้ให้หมดในคราวเดียวไม่ควรเก็บไว้นาน ๆ
5. เพื่อให้การใช้  เชื้อราไตรโคเดอร์มามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นควรปรับระดับความเป็นกรด - ด่างของดินให้อยู่ระหว่าง  5.5 – 6.5
6. ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อการป้องกันการเกิดโรคจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

   
  การเก็บรักษา
  เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดบนเมล็ดธัญพืช หลังจากที่เชื้อเจริญเติบโตถุงก้อนเชื้อแล้วถ้ายังไม่ได้นำไปใช้ควรเก็บในที่ร่ม  อุณหภูมิห้องปกติจะเก็บไว้ได้ประมาณ 15 วัน หรือเก็บรักษาไว้ที่เย็น อุณหภูมิ 7 – 10 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นาน 30-45 วัน และไม่ควรเก็บนานกว่านี้จะทำให้เชื้อไม่แข็งแรงเสื่อมคุณภาพ นำไปใช้ไม่ได้ผลดี